10 อาการของหญิงวัยทอง

คงได้ยินกันบ่อยๆ กับคำแซวที่มักจะใช้กับผู้หญิงที่หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย ว่า “เป็นวัยทองหรือไง?” นั่นเป็นเพราะมันคืออาการโดดเด่นของผู้หญิงในช่วงวัย 48-52 ปีที่กำลังเข้าสู่วัยทองซึ่งเป็นวัยที่รังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับร่างกาย และจิตใจหลายประการ คุณผู้หญิงจะทราบได้อย่างไรว่าตนเองเข้าข่ายวัยทองแล้ว ให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายดังนี้ 

  1. หมดประจำเดือน สังเกตจากปริมาณประจำเดือนที่ลดลง แล้วค่อย ๆ หายไปและจะสิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรเมื่อหมดประจำเดือนครบ 1 ปี 
  2. อารมณ์แปรปรวน  มีอาการหงุดหงิด วิตกกังวล หดหู่ บางช่วงอยากเก็บตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร คล้ายคนเป็นโรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ปกติ และอาจส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันได้
  3. อาการร้อนวูบวาบ  ร้อนและเหงื่อออกได้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องแอร์เย็นเฉียบ และมักจะเกิดขึ้นส่วนบนของร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ และอก โดยเฉพาะหน้าจะสังเกตอาการได้ชัดเจนมาก จะมีอาการอยู่ประมาณ 1-5 นาที ในบางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ใจสั่นร่วมด้วย  
  4. นอนหลับยากขึ้น  อาจมีผลมาจากอาการในข้อ 2 และ 3 และอาจมีปวดเนื้อตัวร่วมด้วย ทำให้นอนหลับยาก และหลับไม่สนิท ซึ่งอาการนี้จะหายเมื่อผ่านไปสักระยะ  
  5. ไขมันในเลือดสูง เป็นผลมาจากรังไข่หยุดสร้างเอสโตรเจนซึ่งทำหน้าที่ในการลดไขมันเลว (LDL) ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอล และไขมันเลว (LDL) เพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมันดี (HDL) ลดลง เกิดอาการไขมันตกค้างเกาะตามผนังหลอดเลือดจนทำให้เส้นเลือดตีบอุดตันได้ง่าย 
  6. ช่องคลอดผิดปกติ ช่องคลอดแห้ง ขาดน้ำหล่อลื่น และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  7. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะฝ่อลีบหย่อนตัว ปัสสาวะแสบร้อน ปัสสาวะเล็ดเมื่อหัวเราะ หรือไอ จาม กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อง่าย
  8. ผิวแห้ง ผลจากการขาดสมดุลของฮอร์โมนทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น แห้งกร้าน เป็นขุย ลอก และอาจมีอาการคันร่วมด้วย 
  9. เริ่มพบกระดูกพรุน ถือเป็นภัยเงียบของวัยทอง ผู้หญิงไทยจะมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูกสูงสุดในช่วงอายุ 30-34 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงประมาณร้อยละ 0.3-0.5% ต่อปี จึงอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนขึ้นได้ในวัยนี้
  10. เข้าใกล้อัลไซเมอร์ เป็นช่วงวัยที่เซลล์สมองเริ่มเสื่อม จะมีอาการหลงลืมง่าย เริ่มจำชื่อคน เรื่องราวสำคัญได้ลดน้อยลง 

อย่างไรก็ตาม อาการวัยทองอาจเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน การศึกษาทำความเข้าใจในสภาพการเปลี่ยนแปลงข้างต้นจะช่วยให้ผู้หญิงวัยนี้สามารถหาทางควบคุม แก้ไขอาการได้ไม่ยาก หากมีอาการมากควรได้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางหยุดยั้งอาการไม่ให้ลุกลามจนเป็นสาเหตุของโรคร้ายอื่นๆ ต่อไป