ก่อนซื้อแฟรนชายส์มาทำธุรกิจ มีข้อควรรู้อะไรบ้าง

ใครที่มีความฝันทำธุรกิจแล้วอยากมีตัวช่วย ให้ธุรกิจราบรื่น ต่างต้องการซื้อแฟรนไชส์กันทั้งนั้น เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลามานั่งศึกษาตลาดเอง ทางบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ ก็สนับสนุนไม่ให้ผู้ซื้อขาดทุนจนต้องปิดกิจการไป เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงของแบรนด์ที่จะถูกมองในเชิงลบด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์ ต้องศึกษาหาความรู้เองเช่นกัน ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง ที่ผู้สนใจร่วมลงทุนควรทราบ

เงื่อนไขในการเป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์

ไม่ใช่ว่ามีเงินเพียงอย่างเดียว แล้วบริษัทจะขายแฟรนไชส์ให้คุณเสมอไป เนื่องจากแต่ละแห่งนั้นมีข้อกำหนดบังคับว่าผู้ซื้อมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการเป็น franchisee หรือไม่ และยิ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ยิ่งมีเงื่อนไขซับซ้อนมาก เรียกได้ว่าใน 1 ปี มีผู้ผ่านคุณสมบัติไม่ถึง 10% และตัวอย่างเงื่อนไขของแต่ละบริษัทมีดังนี้

Café Amazon ผู้ขอสิทธิ์แฟรนไชส์ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมมีพื้นที่ตามที่บริษัทกำหนด เช่น 1. stand alone ควรมีพื้นที่อย่างน้อย 100 ตร.ม. – 200 ตร.ม. มองเห็นสังเกตโดยง่าย  2.รูปแบบ Shop ตามห้าง ควรมีพื้นที่ 40 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องมีคนเดินผ่านหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 3 พันคนต่อวัน อีกทั้งสถานะการเงินแข็งแรง มีเงินสดหมุนเวียนสม่ำเสมอ

ไก่ย่าง 5 ดาว ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องเป็นนิติบุคคลก็ได้ แค่มีอายุไม่เกิน 50 ปี สัญชาติไทย พร้อมทำเลที่เหมาะสม ก็เริ่มต้นเปิดร้านได้แล้ว ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ 5 หมื่นบาท พร้อมค่าประกันอุปกรณ์ตามที่บริษัทกำหนด

ถูกดี ร้านค้าปลีกเน้นราคาประหยัด ผู้ขอสิทธิ์แฟรนไชส์ ต้องมีพื้นที่น่าสนใจ ชาวบ้านในชุมชนเข้าถึง และเงื่อนไขขอแฟรนชายส์ คือ ต้องมีเงินค้ำประกัน เพื่อปฎิบัติตามสัญญา 2 แสนบาท พร้อมบุคคลค้ำประกัน อีกทั้งต้องตกแต่งร้านให้ได้ตามมาตรฐานของบริษัท ค่าตกแต่งร้านเริ่มต้นที่ 5 หมื่นบาท

ระยะเวลาในการคืนทุน

ข้อนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก แม้แฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการได้อย่างสม่ำเสมอ
ยิ่งแบรนด์น่าเชื่อถือ ผู้ขอสิทธิ์แทบไม่ต้องทำอะไร ยังไงลูกค้าก็เข้าร้านอยู่แล้ว เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ลงทุนทำการตลาดให้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากแฟรนไชส์นั้น คืนทุนช้าใช้เวลานาน อาจพิจารณาเอาเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นดีกว่า 

การแบ่งเปอร์เซ็นต์กำไร

แฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ ออกแบบระบบกำไรต่างกันออกไป ซึ่งระดับ Royalty Fee ควรไม่เกิน 5 % เพราะถ้าผู้ขายแฟรนไชส์ขอแบ่งกำไรเกินกว่านี้ ผู้ซื้อสิทธิ์อาจดำเนินการต่อไปไม่ไหว หรือบางแห่งมีขนาดเล็ก ไม่ได้แบ่งกำไรต่อ order ของลูกค้า (Royalty Fee) แต่ให้ผู้ได้สิทธิ์แฟรนไชส์ ซื้อสินค้าของบริษัทตัวเอง แทนที่จะเรียกเก็บค่า Royalty Fee 

นอกจากจะพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้แล้ว เรื่องสำคัญที่ควรรู้ก็คือ ผู้ขายแฟรนไชส์ดูแลผู้ซื้อสิทธิ์ดีไหม ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรหรือไม่? เพราะบางแฟรนไชส์ ดูแลผู้ซื้ออย่างดี ชนิดที่เรียกว่าไม่ปล่อยให้ล้ม ในขณะที่บางแห่งไม่เคยช่วยเหลือเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ดังนั้นธรรมาภิบาลของผู้ขายแฟรนไชส์เองก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน