การจารใบลาน มรดกทางภูมิปัญญาของชาวล้านนา

ใครที่ได้มีโอกาสไปทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด อาจจะเคยเห็นคัมภีร์ใบลานที่พระท่านถือเวลาเทศนาให้กับญาติโยมได้รับฟังกันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา แต่เคยสงสัยกันไหมว่าใบลานเหล่านี้มาจากไหน และมีความเป็นมาอย่างไร ไม่รอช้าวันนี้เราได้ไปเสาะหาเรื่องราวที่น่าสนใจของใบลาน และการจารใบลาน ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวล้านนามาฝากกัน

ใบลาน ได้จากต้นลาน ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ และเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในตระกูลปาล์ม ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและอเมริกา ถือเป็นไม้เศรษฐกิจของไทย ด้วยประโยชน์ที่ได้รับจากส่วนต่าง ๆ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค เรียกว่าสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ยอดไปจนถึงรากเลยทีเดียว

เช่น ยอดใบลาน ใช้ทำเป็นหนังสือเรียกว่าว่า “คัมภีร์ใบลาน” การ์ด นามบัตร ที่คั่นหนังสือ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จักสาน จำพวก พัด หมวกงอบ เสื่อ กระเป๋า โมบายรูปสัตว์ การ์ด และนามบัตรต่าง ๆ เป็นต้น

จากข้อมูลประวัติศาสตร์พบว่า การจารหนังสือบนใบลาน เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ต่อมาเทคนิควิธีและแนวคิดนี้ได้แพร่หลายไปพร้อมกับความเจริญของพระพุทธศาสนาในหลายประเทศแถบเอเซีย ส่วนใหญ่นิยมจารใบลานเกี่ยวกับพระธรรม คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎก และเนื้อหาของรามเกียรติ์ โดยอักษรที่ใช้ ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี และอักษรขอม

ในประเทศไทย การจารใบลานถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ในสมัยนั้น ซึ่งแบ่งตัวอักษรสำหรับใช้งานเป็น 2 ลักษณะได้แก่ “อักษรฝักขาม” นิยมใช้เขียนบันทึกและวรรณคดีทางโลก ส่วนอักษร “อักษรธรรมล้านนา” นิยมใช้บันทึกหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยมีขั้นตอนการทำหนังสือใบลานแบบดั้งเดิมดังนี้

1.เตรียมใบลาน ด้วยการทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า จากนั้นนำมาผึ่งแดด ตากน้ำค้างทิ้งไว้ประมาณ 4 คืน นำไป ต้มด้วยน้ำซาวข้าวเพื่อให้ขาวและอ่อนตัว เสร็จแล้วนำขึ้นผึ่งแดด ตากน้ำค้างอีก 2 แดด (โบราณนิยมทำในฤดูหนาว เพราะไม่มีน้ำค้าง) เมื่อใบลานนิ่มแล้วดึงเอาก้านออก ม้วนเหมือนกระดาษทิชชู เพื่อให้ใบลาน เหยียดตรง นำใบลานที่เตรียมไว้มาแทงด้วยเหล็กร้อนให้เกิดรู 2 ข้าง เว้นระยะให้เท่า ๆ กัน จากนั้นนำก้านลานมาร้อยซ้อนกันจนได้มัดใบลานที่ขนาดพอเหมาะ นำท่อนไม้ขนาดใหญ่วางทับไว้ 4-5 วัน จนแห้งสนิท ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ ณ หอสมุดแห่งชาติ พบว่าใบลานจัดเป็นวัสดุที่มีความคงทนและเก็บรักษาได้นับร้อยปี

2.การจารใบลาน ใช้เหล็กจารเขียน หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า “จาร” ตัวหนังสือให้เป็นรอยลึกลงในเนื้อลาน รูปอักษรที่เขียนด้วยวิธีจารเรียกว่า “เส้นจาร” เริ่มจากการตีเส้นโดนใช้เส้นด้ายเหนียว ขึงบนกรอบรูปไม้4เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นเส้นบรรทัดตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้นผสมเขม่าไฟกับน้ำให้ข้น แล้วนำลูกประคบไปชุบและลูบไปตามเส้นด้าย วางกรอบลงบนใบลานที่จะจาร แล้วดึงเส้นด้ายออกทีละเส้น ดีดเขม่าลงบนใบลาน เพื่อกำหนดเส้นบรรทัด วางลงบนสนับรองจาร เมื่อจารเสร็จใช้ลูกประคบจุ่มเขม่าไฟผสมน้ำมันยาง ปาดเบา ๆ ไปบนตัวอักษรที่จารไว้ แล้วจึงค่อยใช้ทรายละเอียดขัดเบา ๆ เป็นวงกลมเพื่อให้น้ำมันยางและเขม่าหลุดออก เหลือไว้แต่ตัวอักษร

3. การเข้าผูก นำหนังสือใบลานที่เรียงลำดับอังกาบ ตามตัวเลขและอักษรที่ระบุไว้ ให้ได้ 24 ลาน จึงเรียกว่า 1 ผูก โดยเรียงใบลานเปล่าไว้ทั้งด้านหน้า และหลัง เช่นเดียวกับปกหนังสือ จากนั้นใช้ด้ายผูกร้อยในรูที่เจาะไว้ เรียกว่า “สายสนอง” นิยมร้อยไว้เฉพาะด้านซ้าย เพื่อความสะดวกในการเปิดอ่าน

ในอดีต คัมภีร์ใบลานเป็นการแสดงฝีมือในเชิงช่างของแต่ละชุมชน ไว้บนแผ่นไม้ที่ใช้ประกบคัมภีร์ใบลาน ด้วยการลงรักปิดทอง ฝังมุก หรือประดับกระจกด้วยเทคนิคโบราณ แล้วห่อด้วยผ้าทอพิมพ์ลาย ผ้าปัก ที่สวยงามประณีต เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหาย

การจารใบลาน นับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวล้านนาที่น่าภาคภูมิใจอีกชิ้นหนึ่ง เพราะนอกจากประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาแล้ว การจารใบลานยังมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความประณีต สะท้อนถึงภูมิปัญญาและความรักความศรัทธาของบรรพชนที่ต้องการช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป